ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมเวทีสานเสวนาหัวข้อ “จากมือถึงมือ สู่นโยบายการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์ COVID – 19 และสถานการณ์ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานในประเทศไทย
วันที่ 4 มิถุนายน 2563 ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมการสานเสวนาในหัวข้อ “จากมือถึงมือ สู่นโยบายการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์ COVID – 19 และสถานการณ์ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานในไทยยังคงมีปรากฎหรือไม่อย่างไร” ณ ศูนย์พักพิงงฟื้นฟูเยียวยาและฝึกอบรมผู้ประสบปัญหาด้านแรงงาน หรือ บ้าน LPN ถนนคลองบางหลวงไหว้พระ ตำบลคลองบางหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ Thai PBS Plan International Thailand และมูลนิธิกระจกเงา
ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรจำนวน 2,589,353 คน ซึ่งการใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยนั้นจะต้องคำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการ คือ ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตคนไทย เช่น ไม่แย่งอาชีพคนไทย ไม่นำโรคติดต่อร้ายแรงเข้ามาในประเทศไทย เป็นต้น และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงแรงงาน จึงได้มีการจัดระเบียบการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยนำเข้าเท่าที่จำเป็น และแรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาทำงาน ในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองแรงงานภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ได้แก่ ด้านต่างประเทศ ชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างด้าวทุกขั้นตอนตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ การผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปจนถึง 30 พ.ย. 63 และผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานไทย ภายใต้ MOU ด้านแรงงานและแรงงานกัมพูชาและเมียนมา ที่ถือบัตรผ่านแดน โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. – 31 ก.ค.63 ด้านป้องกันตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) ขอความร่วมมือสถานประกอบการทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ลูกจ้างและผู้ประกันตนในสถานประกอบการ เรื่องไวรัสโควิด – 19 และการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข สร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการเยียวยาลดผลกระทบ มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ มีกระบวนการคัดกรอง และการกักตัวเอง 14 วัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ด้านเยียวยาการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานลดหย่อนอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน ส่วนภายหลังสถานการณ์ผ่อนคลาย จะส่งเสริมการจ้างงานคนไทยให้เข้าสู่ระบบการจ้างงาน จัดทำข้อมูลความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศ และเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ
นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์ค้ามนุษย์ด้านแรงงานในประเทศไทยว่า กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญและพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตลอดจนแก้ไขปัญหาด้านแรงงานในภาคประมงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แรงงานทุกสัญชาติได้รับการดูแล คุ้มครอง ช่วยเหลือ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับสิทธิตามกฎหมายและมาตรฐานสากล จนทำให้สหภาพยุโรป (EU) ประกาศปลดใบเหลืองประมงให้กับประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดให้ไทยอยู่ในระดับ Tier 2 ติดต่อกัน 2 ปี และประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ (UN SDGs) อันดับที่ 40 ของโลก เพิ่มขึ้น 19 อันดับจากปีที่แล้วและเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ซึ่งเกิดจากความพยายามและความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้า พัฒนากรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่อให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ตลอดจนให้ความสำคัญกับการบูรณาการตรวจแรงงานในกิจการกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานทั้งระบบ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน