ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนมิถุนายน 2563 ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน สุกร กุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศที่เริ่มคลี่คลาย ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังมีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายน 2563 โดยสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 16,084-16,159 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.68- 1.15 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการซื้อจากประเทศจีนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 10.59-10.90 เซนต์/ปอนด์ (7.46-7.68 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00-5.00 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อราคาเอทานอล และลดแรงกระตุ้นสำหรับโรงงานของบราซิลในการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาล ขณะที่ความต้องการใช้น้ำตาลในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 35.25–35.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.54 – 1.50 จากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติเพิ่มขึ้น
ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 2.69-2.74 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.37 – 2.24 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ภาคธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จึงเป็นโอกาสในการเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล รวมถึงน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและในภาคอุตสาหกรรม สุกร ราคาอยู่ที่ 67.69 – 68.58 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.17–2.50 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ระยะที่ 2 อนุญาตให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง และเปิดจุดผ่านแดนถาวรตามชายแดน ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น และสามารถส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้เพิ่มขึ้น และ กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 136.00 – 138.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนร้อยละ 0.00 – 1.47 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจบางกลุ่มสามารถกลับมาเปิดทำการได้ อาทิ ร้านอาหาร และความต้องการกุ้งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตกุ้งของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ลดลง เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคากุ้งมีแนวโน้มสูงขึ้น
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 9,325-9,389 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.67-1.34 และข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,634-14,660 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.15-1.33 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ได้แก่ เวียดนาม และอินเดีย เริ่มมีการส่งออกข้าวมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรอดูสถานการณ์ราคาและมีแนวโน้มเสนอราคารับซื้อลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น ไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.52-7.56 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-1.00 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน (เก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป) ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้คุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง และมันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.62-1.67 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 – 3.57 เนื่องจากคุณภาพมันสำปะหลังที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้มี เชื้อแป้งต่ำ เป็นผลจากปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลทำให้ราคาให้ปรับตัวลดลง