3 สมุนไพรพื้นบ้าน ต้านไวรัส /โดยศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

บทบาทที่สำคัญของสมุนไพรที่เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคและชะลอความเสื่อมของร่างกาย คือ การต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคและความเสื่อมของร่างกาย

อนุมูลอิสระ คือ โมเลกุลที่จู่โจมกับสารชีวโมเลกุลในร่างกาย เช่น ไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพและอวัยวะที่ประกอบด้วยเซลล์นั้นสูญเสียการทำงานไป ทำลายสมดุลของระบบต่างๆ ในร่างกาย การย่อยสลายโปรตีนและไขมันจากอาหารที่กินเข้าไป มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ รังสียูวี ล้วนทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกาย นำไปสู่ความชราและการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง ภูมิคุ้มกันผิดปกติ นอกจากนี้ยังนำไปสู่การเกิดเซลล์มะเร็งอีกทางหนึ่งด้วย

ในช่วงสถานการณ์ที่เกิดการติดต่อโรค หรือการเกิดโรคเรื้อรัง แนวทางการป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง คือ การเสริม สร้างภูมิคุ้มกัน การชะลอความแก่ของเซลล์ต่างๆ การเพิ่มการไหลเวียนเลือด และป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว รวมทั้งเสริมการทำงานอย่างเป็นระบบของอวัยวะทุกส่วน

สำหรับสมุนไพรที่มีบทบาทดังกล่าว ได้แก่

ยอ (Morinda citrifolia L.)

มีฤทธิ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน มีสรรพคุณกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิต้านทาน แก้หอบหืดและภูมิแพ้ แก้ปวดเมื่อย ลดการอักเสบ บรรเทาภาวะเลือดลมไม่ปกติของสตรีวัยทอง ช่วยระบายท้องและต้านอาเจียน มีงานวิจัยพบว่า สารสกัดยอมีผลเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล ต้านมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระและมีสารสโคโปเลติน สามารถลดการอักเสบของหลอดอาหารจากภาวะกรดไหลย้อนได้ผลใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในการรักษา

ส่วนประโยชน์ด้านความงาม ยอช่วยในการชะลอการเสื่อมของผิว ลดการเกิดริ้วรอย กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว โดยสามารถใช้เนื้อของผลยอผสมน้ำผึ้ง พอกหน้าเพื่อประโยชน์ดังกล่าวได้

การรับประทานยอเพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน กระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ต่อต้านเชื้อโรค ต้านอนุมูลอิสระ ให้รับประทานแคปซูลยอ ครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร หรือรับ-ประทานน้ำลูกยอ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

อย่างไรก็ตาม ผลยอมีโพแทสเซียม สูงใกล้เคียงกับกล้วยและมะเขือเทศ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีการทำงานไตบกพร่องจึงควรหลีกเลี่ยง

หญ้าปักกิ่ง (Murdannia loriformis (Hassk.) Rolla Rao et Kammathy)

นอกจากจะเป็นสมุนไพรที่มีแนวโน้มที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษามะเร็ง และลดผลข้างเคียงจากการใช้เคมีบำบัด หรือรังสีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย รักษาอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และกำจัดพิษ

โดยมีงานวิจัย พบว่า น้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง มีสารกลุ่มกลัยโคสฟิงโกไลปิดส์ ที่แสดงฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง โดยฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องมี 2 แบบ คือ สาระสำคัญจากหญ้าปักกิ่งมีผลฆ่าเซลล์มะเร็งได้โดยตรงและฤทธิ์ทางอ้อมที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโดยการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวในร่างกายและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้เป็นยาร่วมในการรักษาโรคมะเร็ง เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งและการกลับมาเป็นซ้ำ อีกทั้งยังลดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีและเคมีบำบัดได้ค่อนข้างชัดเจน เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร แผลในปาก ปากแห้ง อ่อนเพลีย ปวดข้อและกล้ามเนื้อ ท้องเสีย ท้องผูก ผมร่วง ซึ่งนับเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การใช้หญ้าปักกิ่งในผู้ป่วยมะเร็งควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความมีประสิทธิภาพและได้รับความปลอดภัยสูงสุด

การใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งในตำรายาพื้นบ้าน ให้เตรียมน้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง โดยนำใบหรือทั้งต้นสด น้ำหนักประมาณ 100-120 กรัม ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วโขลกให้แหลก เติมน้ำสุก 4 ช้อนโต๊ะ ผสมให้เข้ากันกรองผ่านผ้าขาวบาง น้ำคั้นที่ได้แบ่งครึ่งดื่มก่อนอาหาร เช้า เย็น

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมสำหรับใช้รับประทานวิธีอื่นๆ อีก เช่น

การตำคั้น โดยนำหญ้าปักกิ่งล้างสะอาดแล้ว 3 ต้น มาตำให้ละเอียดในครกดินเผาหรือครกไม้ เติมน้ำต้มสุก 2 ช้อนโต๊ะ กรองผ่านผ้าขาวบาง ผู้ใหญ่กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง คือ ก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมง และก่อนเข้านอน เด็กกินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ

การตุ๋น โดยใช้หญ้าปักกิ่งสดทั้งต้นและราก 2 ขีด หรือประมาณ 10 ต้น นำมาล้างให้สะอาด เติมน้ำให้ท่วมยา ตุ๋นให้เปื่อยโดยใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง แล้วนำน้ำยาที่ได้มาดื่มต่างน้ำทุกวันและควรตุ๋นวันต่อวัน

การปั่นดื่ม โดยใช้หญ้าปักกิ่งสดทั้งต้นและราก 6-7 ต้น มาล้างให้สะอาด ใส่น้ำครึ่งแก้ว แล้วปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้ กรองกากออก แบ่งดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน

การทำยาลูกกลอน โดยนำหญ้าปักกิ่งสดทั้งต้นและราก มาล้างให้สะอาด ตากแดดให้แห้งสนิท นำหญ้าปักกิ่งแห้งไปบดเป็นผงแล้วนำมาผสมน้ำผึ้ง อัตราส่วน 1:1 ปั้นเป็นเม็ดลูกกลอน กินครั้งละ 6 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า และก่อนนอน

ฟ้าทะลายโจร ( Andrographis paniculata  (Burm.f.) Wall.ex Nees)

เป็นสมุนไพรอีกชนิดที่ได้รับความนิยมในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย และได้ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทย ใช้บรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหลและบรรเทาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ จากรายงานการวิจัยพบว่า ฟ้าทะลายโจรช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ทั้งแบบการสร้างแอนตี้บอดี้ เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายและการกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวจับกินเชื้อโรคได้ดีขึ้น ด้วยประสิทธิภาพของฟ้าทะลายโจร ต่อฤทธิ์การต้านเชื้อไวรัส ทำให้พบว่ามีการจดสิทธิบัตรในจีน (หมายเลขสิทธิบัตร CN 1454592A)(3) ศึกษาการใช้สารสำคัญ andrographolide ในฟ้าทะลายโจร มาใช้เพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อไวรัสซาร์ ซึ่งเป็นการศึกษาภายหลังที่ซาร์ระบาด

ความสามารถของฟ้าทะลายโจรที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน คือ ฤทธิ์ลดไข้ ฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดอาการจากการเป็นหวัด ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ยากขึ้น ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส โดยเฉพาะไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ (broad spectrum antiviral properties) ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น(2)

ขนาดการรับประทาน(5)

ขนาดยาในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี

ป้องกันหวัด ให้ใช้ขนาดต่ำ หรือเพื่อการหวังผลเรื่องการเสริมภูมิคุ้มกัน (ยังไม่มีอาการของหวัด)

รับประทานฟ้าทะลายโจร ประมาณวันละ 1 เม็ด 5 วันต่อสัปดาห์ (อาจกินวันเว้นวัน) ต่อเนื่องกันนาน 3 เดือน สามารถลดอัตราการเป็นหวัดได้ 33%(4)  (ในงานวิจัยใช้ ความแรงของสารสำคัญ andrographolide 11.2 มิลลิกรัมต่อวัน ฟ้าทะลายโจร 400 มิลลิกรัม 1 แคปซูลมีปริมาณสารสำคัญดังกล่าวประมาณ 24 มิลลิกรัม)

รักษาหวัด (มีอาการแสดงของหวัด เช่น ไข้ เจ็บคอ ไอ)

รับประทาน ฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 1.5 กรัม หรือ 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 14 วัน  (สามารถหยุดยาได้เลยทันที เมื่ออาการดีขึ้น โดยไม่มีผลทำให้ดื้อยา)

การใช้ฟ้าทะลายโจรในเด็ก

พบรายงานการใช้สาร andrographolide 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง คิดเป็น 30 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่าผงยาฟ้าทะลายโจรประมาณ 500 มิลลิกรัม หรือวันละ 1 แคปซูล เป็นเวลาต่อเนื่องนาน 10 วัน ช่วยรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดไม่รุนแรง ในเด็กอายุ 4-11 ปี พบว่าให้ผลการรักษาที่ดี (บรรเทาอาการของโรคหวัด ได้แก่ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ หายใจไม่ออก เจ็บคอ คอแห้ง ปวดหัว ไข้ น้ำมูกไหล การบวมคั่งในจมูก อาการลดลงตั้งแต่วันที่ 3 ของการใช้ฟ้าทะลายโจร) และมีความปลอดภัยในการใช้

ทั้งนี้ ยังไม่มีการศึกษาการใช้ฟ้าทะลายโจรในระยะยาวในเด็กอายุ 4-11 ปี ดังนั้นไม่แนะนำให้กินเกินวันละเม็ด และไม่เกิน 10 วันในเด็กเล็ก อายุ 4-11 ปี

ข้อห้าม/ข้อควรระวัง(5)

ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากพบว่าน้ำต้มฟ้าทะลายโจรมีผลทำให้หนูทดลองแท้งได้ และห้ามใช้ในกรณีติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus group A เพราะเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ไข้รูห์มาติค โรคหัวใจรูห์มาติคและไตอักเสบ

ใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ คือ อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ให้รับประทานฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ถึง 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

การใช้ฟ้าทะลายโจรแบบต้นสด

เก็บใบและลำต้นเหนือดินในช่วงที่เริ่มมีดอก (ใช้เวลาปลูกประมาณ 3 เดือน) ปริมาณสาระสำคัญทางยา คือสาร andrographolide จะสูงสุดในช่วงที่ฟ้าทะลายโจรออกดอก นับตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงดอกบานร้อยละ 50 ของต้น (โดยเฉลี่ยมีอายุประมาณ 100-150 วัน) หากเก็บในรูปแบบชิ้นแห้งไม่ควรเก็บเกิน 1 ปี เพราะสารสำคัญจะสลายไป

  • ขนาดรับประทาน กรณีทำเอง(6)
  1. ใบสด ใช้ฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 1-3 ใบ วันละ 4 เวลา โดยอาจเคี้ยวสด หรือชงน้ำร้อน
  2. ยาลูกกลอน นำใบฟ้าทะลายโจรล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง ควรผึ่งในที่ร่ม ที่มีอากาศโปร่ง ไม่แนะนำให้ตากแดด บดเป็นผงละเอียด ปั้นกับน้ำผึ้งเป็นยาเม็ดลูกกลอน เก็บไว้ในขวดแห้งและมิดชิด กินครั้งละ 1.5 กรัม (3-4 เม็ด) วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 3 เดือน เพราะยาจะเสื่อมคุณภาพได้

ผลข้างเคียงที่พบได้

  1. หากรับประทานฟ้าทะลายโจรแล้วมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ เวียนหัว ใจสั่น ควรหยุดยา หากจะกลับมาใช้ใหม่ต้องลดขนาดการใช้ลงจากเดิม หากยังมีอาการเดิมเหมือนทุกครั้งเมื่อกลับมาใช้ยาแล้วไม่สามารถทนอาการไม่พึงประสงค์ได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้
  2. หากมีอาการแพ้ยา เช่น ปากบวม หน้าบวม ตาบวม แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ผื่นขึ้น ให้หยุดใช้ยาทันทีและห้ามกินฟ้าทะลายโจรอีก
  3. ฟ้าทะลายโจร มีผลลดความดันโลหิต ระวังการใช้ในผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน มึนงง หน้ามืด
  4. การใช้ขนาดสูง ติดต่อกันเวลานาน อาจทำให้สมดุลร้อนเย็นในร่างกายเสีย เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์เย็น อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเปลี้ย แขนขาชา

ข้อมูลอ้างอิง

  • คำแนะนำจาก CDC : https://www.cdc.gov/…/…/ncov/about/prevention-treatment.html
  • ฤทธิ์ของฟ้าทะลายโจร : https://link.springer.com/artic…/1007%2Fs00705-016-3166-3
  • สิทธิบัตรฟ้าทะลายโจรในไวรัสซาร์ : https://patents.google.com/patent/CN1454592A/en
  • งานวิจัยใช้ป้องกันหวัด : Cáceres DD, et al. Prevention of common colds with Andrographis paniculata dried extract. A Pilot double blind trial. Phytomedicine. 1997 Jun;4(2):101-4บ
  • ข้อมูลยา/ขนาดการใช้ยา/ข้อห้ามใช้/ข้อควรระวัง : บัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชียาจากสมุนไพร) พ.ศ. 2561
  • การทำฟ้าทะลายโจรใช้เอง : หนังสือยาสมุนไพร จากงานสาธารณสุขมูลฐาน