วันที่ 27 มกราคม 2563 นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านบริหาร เป็นประธานเปิดการบรรยายเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในยุคดิจิทัล ด้านการพัฒนาที่ดิน” ณ ห้องประชุมกรมพัฒนาที่ดิน ชั้น 2 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ และมีการ VDO CONFERENCE ไปยังสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 – 12
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับข้าราชการกรมพัฒนาที่ดินในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ปฏิบัติงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (พด. องค์กร 4.0) ในเรื่อง AI คืออะไร ทิศทางของเทคโนโลยี AI ในปี 2020 บทบาทและความสำคัญของ AI กับองค์กร และตัวอย่างการนำ AI มาใช้ในองค์กร รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลการโต้ตอบกับผู้รับบริการอัตโนมัติ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในการวิเคราะห์ และพยากรณ์ (Prediction) แนวโน้มหรือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม โดยใช้ Machine Learning หรือ AI เข้ามาช่วยในการสร้าง Model ในการวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับวางแผนการใช้ที่ดิน และให้บริการข้อมูลกรมพัฒนาที่ดินในมิติต่างๆ ทั้งด้าน MIS และ GIS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับเกียรติจาก คุณนารีรัตน์ แซ่เตียว ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูล และการประมวลภาษาธรรมชาติของไทย (Natural Language Processing-NLP) และคณะ มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ แนะนำ อธิบายให้เห็นแนวทาง บทบาทหน้าที่ ความคาดหวังเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อใช้ในงานด้านการพัฒนาที่ดินในครั้งนี้
รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า “เนื่องจากอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในการให้บริการกับประชาชนว่า ปัจจุบันมีความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และทั่วถึงในเรื่องของการพัฒนาการทำงานในรูปแบบดิจิทัล ปัญหาที่สะท้อนกลับขึ้นมาว่า ข้าราชการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่เข้าถึงประชาชนเท่าที่ควร ขอความร่วมมือทุกส่วนราชการให้เข้าถึงประชาชน ปรับกระบวนการให้ประชาชนได้รับบริการ ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน มีข้อมูลมากมาย ข้อมูลเบื้องต้นให้เข้าใจลักษณะดินของตนเองว่าเป็นอย่างไร เหมาะสมจะปลูกพืชหรือไม่ หากไม่เหมาะสมจะทำอย่างไร สิ่งที่จะเป็นเครื่องมือได้คือ ดิจิทัล กรมพัฒนาที่ดินมีข้อมูลมากมาย และมีความพยายามพัฒนาในรูปแบบ แอปพลิเคชั่น แต่ก็เข้าถึงได้ไม่มากเพียงพอ เนื่องจากข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินเป็นภาษาที่เข้าใจยากและเป็นข้อมูลเชิงลึก ประชาชนจึงเข้าใจยาก เข้าถึงยาก และไม่ง่ายต่อการใช้งาน จึงจำเป็นต้องมีการปรับกระบวนการให้ประชาชนได้รับบริการได้ทุกที่ทุกเวลา เข้าถึงได้ง่าย ถูกต้องตามบริบทที่ประชาชนต้องการ เป้าหมายสุดท้ายเพื่อให้ประชาชน/เกษตรกรที่รอรับข้อมูล สามารถใช้ข้อมูลในการทำอาชีพให้เกิดประโยชน์หากพัฒนาถูกวิธี และถูกรูปแบบก็จะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายด้วยสมาร์ทโฟนที่ประชาชนมีอยู่ สามารถตอบสนองประชาชนได้ สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้จึงมีความมุ่งหวังว่าเป็นการเริ่มต้นของการทำ AI และหวังว่าจะเห็นช่องทางในการพัฒนาต่อไป”