วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. และพลตำรวจโท ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานร่วมกันในการเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแนวทางการประสานงานระหว่างศูนย์ประสานงานเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปก.ปปง.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการฉ้อโกงหรือหลอกลวงทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ตำรวจ ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงิน เข้าร่วมโครงการฯ ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
พลตำรวจตรี ปรีชาฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ศปก.ปปง. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและรับแจ้งเหตุจากประชาชนผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงโดยกลุ่มมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และฉ้อโกงหรือหลอกลวงทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น เช่น แก๊งโรแมนซ์สแกม เป็นต้น ผ่านช่องทางสายด่วน 1710 ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงาน ปปง. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันการเงิน จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า การบูรณาการการทำงานร่วมกันดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง สามารถอายัดเงินในบัญชีของผู้กระทำความผิดไว้ได้ก่อนที่จะถูกมิจฉาชีพถอนเงินออกไปและคืนให้ประชาชนเพื่อเป็นการเยียวยาได้เป็นจำนวนกว่า 26 ล้านบาท สำหรับการประชุมฯ ในวันนี้ เป็นการปรับปรุงรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้ทันต่อรูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยการปรับปรุงขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมพฤติการณ์การกระทำความผิดของกลุ่มมิจฉาชีพตลอดเวลาเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดปัญหาการถูกหลอกลวงและเร่งนำเงินมาคืนประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกรณีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เช่น แชร์ลูกโซ่ เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและรัฐบาลได้ยกให้เป็นวาระแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้วย จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกหน่วยงานจะได้ร่วมกันทบทวนแนวทางการประสานงานในกรณีดังกล่าว
พลตำรวจโท ดำรงศักดิ์ฯ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับความร่วมมือในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดในทุกมิติทั้งการเฝ้าระวัง การปราบปราม การสืบสวนเส้นทางทางการเงิน และอายัดทรัพย์สิน เพื่อสามารถนำมาเฉลี่ยทรัพย์คืนให้แก่ผู้เสียหายได้ทันท่วงที โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับนโยบายจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงจัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ศปอส.ตร. (Police Cyber Taskforce : PCT) ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- การหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ หรือ Scams
- ฉ้อโกงประชาชนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
- การเสนอข่าวบิดเบือน (Fake News)
- ความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงผ่านสื่อออนไลน์
โดยทาง ศูนย์ PCT จะได้มีการประสานความร่วมมือกับสำนักงาน ปปง., ธนาคารทุกแห่งและหน่วยงานอื่น ที่เกี่ยวข้อง โดยรับแจ้งเหตุจากประชาชนผู้เสียหายที่มาแจ้งความร้องทุกข์โดยตรง ณ ที่ทำการของศูนย์ฯ ชั้น 1 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือผ่านช่องทางสายด่วน 1599 และ 1155
พลตำรวจตรี ปรีชาฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรรมและตัดเส้นทางทางการเงินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง. จะเน้นการสืบสวนขยายผลโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในรายคดีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ให้เกิดความเข้มข้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อความสงบสุข ความมั่งคงของประเทศชาติต่อไป ภายใต้ปรัชญาการทำงานที่ว่า “ทรัพย์สินใดเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องกลับคืนแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไขด้วยกฎหมายฟอกเงิน” ทั้งนี้ หากพบเห็นบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ขอให้โทรแจ้งหรือสอบถามได้ที่สายด่วน ปปง. 1710 หรือศูนย์ PCT 1599 และ 1155
………………………………………….