รมว.พม. ลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ย้ำคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งชาวไทยและต่างด้าวตามหลักมาตรฐานสากล โดยไม่เลือกปฏิบัติ

วันที่ 16 พ.ย. 62 เวลา 11.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พร้อมมอบแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้ปฏิบัติงาน ณ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (บ้านศรีสุราษฎร์) อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกทั้งตรวจเยี่ยมและติดตามการขับเคลื่อนงานด้านสังคมในพื้นที่ตามภารกิจของกระทรวง พม. ณ สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งพบปะให้กำลังใจและเยี่ยมชมผลงานของสภาเด็กและเยาวชน และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ นอกจากนี้ เป็นประธานการประชุมทีม พม. One Home จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการทำงานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

นายจุติ กล่าวว่า สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ บ้านศรีสุราษฎร์
จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2543 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ปัจจุบันสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวง พม. มีภารกิจหลักในการให้ความคุ้มครองเด็กและสตรีทั้งชาวไทยและต่างด้าว รวมทั้งชาวโรฮิงญา ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม
การค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 (มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551) และบันทึกข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้การคุ้มครองหญิงและเด็กหญิงที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ย. 62) มีการให้ความคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์รวมจำนวน 120 คน แบ่งเป็นชาวไทย 3 คน ชาวเมียนมา 35 คน ชาวลาว 3 คน และชาวโรฮิงญา 79 คน โดยมีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินคดี ดังนี้ 1. รอสืบพยาน 56 คน 2. สืบพยานแล้ว 72 คน และ 3. เรียกค่าสินไหม 71 คน รวมทั้งขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุมไปถึงหญิงและเด็กหญิงที่ประสบปัญหาทางสังคมด้านต่างๆ ทั้งถูกทารุณกรรมทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ถูกหลอกบังคับใช้แรงงาน เป็นต้น อีกทั้งให้การคุ้มครองหญิงและเด็กหญิงที่เข้ารับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ด้วยกระบวนพัฒนาระบบและรูปแบบการดำเนินงาน คุ้มครอง ฟื้นฟู เยียวยา ส่งกลับ และคืนสู่สังคมของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อีกทั้งการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งชาวไทยและต่างด้าว รวมทั้งชาวโรฮิงญา ของสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (บ้านศรีสุราษฎร์) โดยได้มอบแนวทางการดำเนินงาน ด้วยการนำนโยบายและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีอยู่แล้วนำไปสู่ปฏิบัติงานในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะคดีค้ามนุษย์มีความซับซ้อน การอบรมให้ความรู้หรือการเพิ่มศักยภาพแก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ โดยใช้เครื่องมือในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาเรื่องเพศ วัย และเชื้อชาติ เพื่อป้องกันการเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ได้อย่างแท้จริง และที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ต้องยึดถือปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากล ด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือด้วยความเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ อีกทั้งขอให้ยึดหลักการทำงานในพื้นที่ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง นอกจากนี้ ได้พูดคุยทางไกลผ่านระบบออนไลน์ทาง Facebook กับเด็กชายชาวโรฮิงญา อายุ 16 ปี ที่ได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศที่สาม ณ มลรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2559 ตอนนี้ อาศัยอยู่กับครอบครัวชาวอเมริกัน กำลังศึกษาในระดับเกรด 12 และเป็นนักฟุตบอลประจำโรงเรียน ซึ่งปีหน้าจะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน โดยได้สอบถามเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ การปรับตัว และการศึกษาในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งปัญหาและความต้องการในการช่วยเหลือจากประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ มีความต้องการหนังสือรับรองจากสถานศึกษาในประเทศไทย เพื่อนำไปประกอบการสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัยมิชิแกน ทั้งนี้ จะได้ประสานขอหนังสือรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการต่อไป สำหรับการส่งต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เป็นชาวโรฮิงญา เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศที่สาม มีการดำเนินงานตั้งแต่ ปี 2557 รวมจำนวน 73 คน โดยประสานความร่วมมือกับ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สำนักงานประจำประเทศไทย จากนั้น ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินงาน กิจกรรมของสถานคุ้มครองฯ และการตรวจสุขภาพผู้รับบริการ รวมทั้งได้เลี้ยงอาหารกลางวันผู้รับบริการในสถานคุ้มครองฯ

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนั้น ตนได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการขับเคลื่อนงานด้านสังคมในพื้นที่ตามภารกิจของกระทรวง พม. ณ สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งพบปะให้กำลังใจและเยี่ยมชมผลงานของสภาเด็กและเยาวชน และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ นอกจากนี้ เป็นประธานการประชุมทีม พม. One Home จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 9 หน่วยงาน เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านสังคมที่สำคัญในพื้นที่ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ

################################